วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

mcrutoday: สองน่อง-เหนื่อยนี้เพื่อน้อง

mcrutoday: สองน่อง-เหนื่อยนี้เพื่อน้อง

mcrutoday: สวนสร้างสุข:Healthy Park

mcrutoday: สวนสร้างสุข:Healthy Park

สองน่อง-เหนื่อยนี้เพื่อน้อง

โลกกว้าง-ทางไกล
สองน่อง-เหนื่อยนี้เพื่อน้อง
สานสัมพันธ์ผู้รักสุขภาพไทย , ลาว , เวียดนาม , จีน
กฤตย์ ทองคง ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในหมู่นักวิ่งเพื่อสุขภาพ ในฐานะผู้รอบรู้เรื่อง “วิ่ง” จากการใช้ตัวเอง ฝึกฝน ทดลอง จากการฝึกซ้อมอย่างหนัก ควบคู่ไปกับการลงแข่งขันในสนามวิ่งบนถนน เพื่อทดสอบและประเมินตนเอง ขณะเดียวกันก็ศึกษาหาความรู้จากตำรับตำราทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านระบบสารสนเทศที่ทันสมัยและกว้างไกล
กฤตย์ ใช้ประสบการณ์และความรู้สร้างผลงานเป็นบทความเกี่ยวกับการวิ่งนับร้อยบทความ มีการจัดพิมพ์รวมเล่มหลายฉบับ และกำลังจะมีการตีพิมพ์ผลงานรวมเล่มชุดใหม่ล่าสุด ออกมาเป็นวิทยาทานแก่นักวิ่งเพื่อสุขภาพในเร็ว ๆ นี้ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุน
ในปี พ.ศ.2549 กฤตย์ เข้าไปช่วย ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ และคณะวิ่งทางไกล จากกรุงเทพฯ ถึงพระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 930 กิโลเมตร ภายใต้โครงการ“วิ่งเพื่อคนที่เรารัก : Run for the one we love” ในฐานะโคชและผู้จัดการ
ปี พ.ศ.2550 กฤตย์ ขี่จักรยานทางไกลวนรอบภาคอีสาน ระยะทาง 2,515 กิโลเมตร จากนครสวรรค์ เลียบแม่น้ำโขงทอดยาวพรมแดนไทย-ลาว วกกลับมาที่นครสวรรค์ใช้เวลาต่อเนื่องนาน 31 วัน โดยลำพัง
ปี พ.ศ.2551 เขาขี่จักรยานล่องใต้ จากนครสวรรค์ จนถึงอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทั้งไปและกลับโดยลำพังตัวคนเดียว รวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2529 – 2530 กฤตย์หาประสบการณ์การใช้ความสามารถเอาตัวรอดในการเดินทาง โดยการโบกรถ เดินทางไปทั่วทวีปยุโรป โดยลำพัง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องราว 5 เดือน
วันนี้ ในปี พ.ศ.2553 กฤตย์ ทองคง สั่งสมประสบการณ์ และบ่มเพาะจิตใจอันแข็งแกร่ง และกล้าหาญ เพื่อการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของชีวิต ภายใต้ชื่อ โลกกว้าง...ทางไกล สองน่อง...เหนื่อยนี้เพื่อน้อง สานสัมพันธ์ผู้รักสุขภาพไทย ลาว เวียดนาม จีน
ทั้งนี้ด้วยเจตนามุ่งมั่น ที่จะใช้การเดินทางไกลครั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา ในปี 2554 ในฐานะพระองค์เป็นประดุจ “พ่อของคนไทยทั้งแผ่นดิน”
การขี่จักรยาน ระยะทางราว 5,000 กิโลเมตรหนนี้ ยังเป็นไปเพื่อเรียกร้องความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมถึงต้องการรณรงค์ให้สาธารณชน ตระหนักในความสำคัญของการออกกำลังกาย จนเป็นวิถีชีวิต และเขายังตั้งความหวังที่จะระดมเงินเป็นกองทุน สำหรับเยาวชนที่ยากจน และด้อยโอกาสอีกด้วย
จุดเริ่มต้นการขี่จักรยานของ กฤตย์ ทองคง เริ่มที่สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร ในวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2553 ผ่าน นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา เชียราย เข้าสู่ ลาว ผ่านห้วยทราย หลวงน้ำทา ปากแบ่ง มุ่งสู่เวียดนาม ผ่านเดียนเบียนฟู ฮานอย และลังซอน เข้าสู่ประเทศจีน ผ่านหนานหนิง กวางตุ้ง เซี๊ยะเหมิน เซียงไฮ้ นานกิง เทียนสิน
จุดสิ้นสุดการเดินทาง โดยจักรยานตามลำพังของ กฤตย์ ทองคง อยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน จากนั้นจึงเดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยเครื่องบิน ประมาณเดือนตุลาคม 2553 รวมเวลาเดินทาง 100 วัน ด้วยระยะทางราว 5,000 กิโลเมตร
ตลอดระยะการเดินทาง คุณกฤตย์ จะเข้าเยี่ยมชมรมออกกำลังกายของเมืองต่าง ๆ ตามรายทาง เพื่อมอบสารจากประธานสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ถึงผู้นำชมรมเหล่านั้น เพื่อแสดงเจตนาในการมีส่วนร่วมต่อการผลักดัน เงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อต่อการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในภาคพื้นเอเชีย
ขอเชิญชวนเพื่อนนักวิ่งทั่วไทย ส่งพลังใจให้กับ กฤตย์ ทองคง สานฝันของเขาให้เป็นจริง ภายใต้โครงการ โลกกว้าง...ทางไกล สองน่อง...เหนื่อยนี้เพื่อน้อง และเชิญร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อการฝึกวิ่งถนนให้กับเยาวชนที่ขาดแคลนได้ ในชื่อบัญชี โลกกว้าง...ทางไกล ธนาคารกรุงไทย สาขาปากน้ำโพ เลขที่บัญชี 628-0-22710-3 ที่มีกรรมการรักษาเงิน ประกอบด้วย กฤตย์ ทองคง (เจ้าของโครงการ) พีรพงษ์ นพนาคีพงศ์ (เฮียปอ : ประธานเครือข่ายชมรมวิ่งภาคเหนือตอนล่าง) และ ร.ต.ต.จำเริญ วรทอง (รองนายก อบจ.นครสวรรค์)

วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สวนสร้างสุข:Healthy Park

การเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ วันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน กับกิจกรรมในรั้วโรงเรียนเป็นเป็นกิจวัตรซ้ำซาก จำเจ บางครั้งก็น่าเบื่อหน่าย เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เด็กไม่สนใจการเรียน บางคนถึงกับหนีเรียน นำไปสู่การรวมกลุ่ม และมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ กลายเป็นปัญหาของสังคม ที่นับวันจะรุนแรง จนยากจะแก้ไข
โรงเรียนบ้านทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตระหนักในสาเหตุของปัญหาดังกล่าวจึงจัดทำโครงการ “สวนสร้างสุข เพื่อการเรียนรู้” ขึ้น โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทยเครือข่ายภาคตะวันตก เป็นการขยายห้องเรียน และรั้วโรงเรียนออกไปสู่ชุมชน ที่มีแหล่งเรียนรู้ ทั้งที่เป็นแหล่งธรรมชาติ ร้านค้า วัดวาอาราม และยังอุดมไปด้วยครูภูมิปัญญา หลากหลายสาขา หลากหลายอาชีพ
การเดิน การวิ่ง การขี่จักรยาน และกิจกรรมนันทนาการ เป็นเครื่องมือทีทถูกนำมาใช้เพื่อเข้าสู่สาระการเรียนรู้ ตรมหลักสูตรอย่างบูรณาการ