วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รำลึกยูเอ็นเดย์รัน2009

โครงการเดิน-วิ่งวันสหประชาชาติ 2552 UN DAY RUN “รวมพลังออกกำลังกายสู้หวัด 2009 ดำเนินงานโดยมูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ร่วมกับ UNESCAP องค์การอนามัย
โลก ประจำประเทศไทย  กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพอื่น โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009
                กิจกรรมจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2552 ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ด้านหน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมกับ ดร. Noeleen  Heyzer  เลขานุการบริหารของ สหประชาชาติคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก(ESCAP)
                กิจกรรมประกอบด้วย
1.             เดินเพื่อสุขภาพ  ระยะทาง  3  กิโลเมตร 
2.             วิ่งเพื่อสุขภาพ  ระยะทาง  10.5  กิโลเมตร
3.             ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ  ระยะทาง  10.5  กิโลเมตร
4.             วีลแชร์   ระยะทาง  10.5  กิโลเมตร
5.             กิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพรูปแบบต่าง ๆได้แก่ เต้นแอโรบิก ไท้เก๊ก ชี่กง หว้ายตันกง  ไม้พลอง  มวยไทยแอโรบิก  เป็นต้น
6.             นิทรรศการสร้างเสริมสุขภาพ
ในวันงาน  มีประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งผู้พิการร่วมกิจกรรม มากกว่า 10,000 คน ทั้งนี้คณะกรรมการได้เปิดรับสมัครล่วงหน้า โดยให้ผู้สนใจส่งใบสมัครที่สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย เปิดรับจำนวน 10,000 คน ปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจยื่นความจำนงส่งใบสมัครเต็มก่อนกำหนด และในวันจัดงานได้มีผู้ขอสมัครหน้างานจำนวนมาก และส่วนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมวิ่ง โดยไม่ได้ลงชื่อสมัครวิ่งเพราะต้องการมาร่วมแสดงพลังรณรงค์ออกกำลังกาย
การดำเนินโครงการเดิน-วิ่งวันสหประชาชาติ 2552 : รวมพลังออกกำลังกายสู้หวัด 2009 ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ตั้งไว้อย่างดียิ่ง ทั้งยังเป็นโครงการที่ดีสำหรับการรณรงค์ จุดประกายให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยเล็งเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายกันมากขึ้น เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีภูมิต้านทานป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ



สสส.หนุนเดินวิ่งยูเอ็นเดย์รันชวนขยับทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องปาริชาติ โรงแรมเรดิสันถนน พระราม 9.. ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย เปิดแถลงข่าวให้รายละเอียดการ เดิน วิ่งประเพณีวันสหประชาชาติ 2553 หรือ ยูเอ็นเดย์ รัน เฟสติวัล 2010” “ ชวนขยับทั้งประเทศ Thailand on the move 2010 ”  ซึ่งงานจะมีขึ้นในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงาน UN ESCAP ถนนราชดำเนินกลาง

                    ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในโอกาสที่วันสหประชาชาติ เวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ 65 ในวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2553 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เตรียมจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย ขึ้นในวันสหประชาชาติ ภายใต้ชื่อโครงการ ยูเอ็นเดย์ รัน เฟสติวัล 2010” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ปรับวิถีชีวิตให้มีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม ภายใต้คำขวัญ ชวนขยับ ทั้งประเทศ

                 สำหรับกิจกรรม ยูเอ็น เดย์รัน เฟสติวัล 2010 ประกอบด้วยการเดินเพื่อสุขภาพ ระยะทาง 3 กิโลเมตรวิ่งเพื่อสุขภาพ ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร การขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ เต้นแอโรบิค ไท้เก๊ก รำพัด ไม้พลอง และมวยไทยแอโรบิค เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะมี กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอื่นๆอีกมากมาย เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมทั้งหมดเพียงแค่ 10,000 คน เท่านั้น

              ด้าน  อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า  จุดศูนย์กลางของงานอยู่ที่บริเวณด้านหน้า สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจ และสังคมภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค (UN ESCAP) ถนนราชดำเนินกลาง และบริเวณถนนกรุงเกษม หน้าโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์   เส้นทางวิ่ง และขี่จักรยาน ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากหน้าสำนักงาน UN ESCAP ถนนราชดำเนินนอก ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม เลี้ยวกลับที่ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า        เลี้ยวซ้ายผ่านวัดเบญจมบพิตร เข้าถนนศรีอยุธยา ผ่านพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสวรรคโลก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนราชวิถี แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนพิชัย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุโขทัย ต่อเนื่องไปยังถนนสามเสน และถนนจักรพงษ์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ มุ่งหน้าสู่สะพานผ่านฟ้า เข้าถนนราชดำเนินกลางในทางคู่ขนาน กลับเข้าเส้นชัย ด้านข้างอาคาร UN ESCAP
                เส้นทางเดิน ระยะทาง 3 กิโลเมตร เริ่มจากหน้าสำนักงาน UN ESCAP ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า เลี้ยวกลับที่ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า ตรงไปตามถนนราชดำเนินนอก ผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตรงไปตามถนนราชดำเนินกลาง แล้วเลี้ยวกลับที่แยก จปร. เข้าเส้นชัยที่ด้านข้างอาคาร UN ESCAP

            ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านเสียค่าลงทะเบียน 100 บาทจะได้รับเสื้อที่ระลึก และเมื่อเข้าสู่เส้นชัยจะได้รับเหรียญที่ระลึกยูเอ็นเดย์รันที่ออกแบบอย่างคลาสสิกสวยงามไว้เป็นที่ระลึกด้วย 

              ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรม ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทร. 0-2455-9149 , 08-4674-3311 หรือคลิ๊กเข้าไปดูข้อมูลที่ www.thaijoggingclub.net  รับสมัครเพียง 1 หมื่นคนเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สวนสร้างสุข:Healthy Park เครือข่ายชมรมเดินวิ่งและออกกำลังกายภาคอีสานตอนบน

สวนสาธารณะเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ให้ความสนใจ และสามารถพาครอบครัวไปพักผ่อนได้ด้วย ซึ่งภายในสวนสาธารณะจะมีบริเวณที่กว้างขวางมากพอที่จะจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เช่น เดิน-วิ่ง จักรยาน แอโรบิค สเก็ตบอร์ด เต้น B-Boy ฟุตซอล รำกระบอง เซปัคตะกร้อ วาดภาพ ระบายสี เป็นต้น

                เครือข่ายชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ภาคอีสานตอนบน จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในจังหวัดหนองคายนำร่องในภูมิภาค ปี 2553-2554
วัตถุประสงค์
1.             เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายในสวนสาธารณะหนองถิ่น จังหวัดหนองคาย และสวนสาธารณะในภาคอีสานตอนบน
2.             เพื่อรณรงค์ให้เยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ได้มีการออกกำลังกาย
3.             เพื่อให้เกิดการรวมตัว และเป็นแบบอย่างในการขยายฐานการออกกำลังกายจากจังหวัดสู่จังหวัด หรือ อำเภอ ตำบลในภายหน้า


วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สวนสร้างสุข:Healthy Park

ประเทศไทย  มีสวนสาธารณะกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในเมืองและในชนบท อยู่ในสังกัดของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรมทางหลวง  รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน
                สวนสาธารณะในเมือง  จะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ออกกำลังกาย และเป็นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนในชุมชน สวนเหล่านี้กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในเขตเทศบาลของจังหวัดต่าง ๆ
                สวนในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ มีทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ ซึ่งทั้งหมดสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แหล่งธรรมชาติเหล่านี้ มักจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ประชาชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ต้องเป็นผู้ที่มีใจรักและชื่นชมธรรมชาติอย่างแท้จริง การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพโดยตรง ยังไม่ปรากฏกิจกรรมที่เด่นชัดมากนัก
                ในกรุงเทพมหานคร มีสวนสาธารณะสังกัดสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ที่เปิดบริการโดยสมบูรณ์แล้ว 20 สวน คือ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนสราญรมย์  สวนเสรีไทย  สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ) สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนสันติภาพ สวนรมณีนาถ  สวนกีฬารามอินทรา  สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน สวนหลวง ร.9  อุทยานเบญจสิริ  สวนพระนคร  สวนหนองจอก  สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา(เกียกกาย) สวนธนบุรีรมย์ สวนธรรม 70 พรรษามหาราชินี  สวนมหาดไทย  สวนทวีวนารมย์ และสวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร  พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ปีละ 750 ไร่ (ระยะปี พ.ศ.2548-2551) โดยมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 3 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
                สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เล็งเห็นในคุณค่าของสวนสาธารณะ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งด้านกาย ใจสังคม และปัญญา เป็นการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็ก เยาวชน ครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในปี พ.ศ.2551-2552  สสส. จึงร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีออกกำลังกายในสวนสาธารณะ รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายในสวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้แก่ธรรมะ ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ
                สวนที่มีกิจกรรมตามโครงการออกกำลังกายในสวน : สวนสาธารณะมีชีวิตไปแล้ว ได้แก่ สวนลุมพินี สวนสราญรมย์ สวนรถไฟ สวนธนบุรีรมย์ สวนกัลปพฤกษ์ สวนสะพานพระราม 8 สวนพฤกษฯ คลองจั่น  สวนวังนันทอุทยาน  สวนป้อมพระจุลจอมเกล้า และสวนสมเด็จย่านนทบุรี  เป็นต้น
                โครงการออกกำลังกายในสวน  เป็นโครงการที่ประสานงานโดย สมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย โดยมีชมรมออกกำลังกายในสวนแต่ละสวนเป็นผู้รับผิดชอบ  วัตถุประสงค์สำคัญต้องการให้ ชมรมออกกำลังกายทุกชมรมในสวน ได้มีโอกาสพบปะกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณประโยชน์ ของกิจกรรมออกกำลังกาย ที่แต่ละชมรมมีความสนใจ ถนัด  และเชี่ยวชาญ การรวมกลุ่มทำให้เกิดพลังทางสังคม ที่ก่อให้เกิดกระแสในการขับเคลื่อนให้ประชาชนที่อาศัยในย่านที่เป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น
                กิจกรรมที่มวลชนในสวนสาธารณะใช้ออกกำลังกายกันเป็นประจำ ได้แก่  เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิค ขี่จักรยาน ไท้เก๊ก  ไม้พลอง  โยคะ ลีลาศ เพาะกาย และการเล่นกีฬา ได้แก่ ตะกร้อ ฟุทซอล บาสเกตบอล แบดมินตัน เปตอง เตะลูกขนไก่ และกีฬาภูมิปัญญาไทย เป็นต้น
                กิจกรรมแต่ละชนิด มีการบริหารจัดการเป็นชมรมที่มีสมาชิก มีคณะกรรมการบริหาร มีระบบจัดการ บางชมรมก่อตั้งมานับสิบปี มีทีมงานและระบบที่เข้มแข็ง บางชมรมมีจำนวนสมาชิกหลายร้อยคน มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะเพื่อสังคมได้อย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ
                ในปี 2553 สสส.และสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย มีเป้าหมายที่จะขยายกิจกรรมออกกำลังกายในสวน ให้ขยายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศให้กว้างขวาง มากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด “สวนสร้างสุข : Healthy Park เพื่อชวนคนไทยออกกำลังกายโดยใช้คำขวัญการรณรงค์ว่า “ชวนขยับทั้งประเทศ” จึงส่งเสริมให้เครือข่ายภูมิภาคของสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ทดลองชักชวนชมรมออกกำลังกายในจังหวัดต่าง ๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ชวนประชาชนมาออกกำลังกายในสวนสาธารณะ และสถานออกกำลังกายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
                ขณะเดียวกันก็มีการทดลอง จัดกิจกรรมออกกำลังกายในสวนของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โดยเริ่มที่สวนพฤกศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 26-27 มิถุนายน 2553 กิจกรรมประกอบด้วย การเข้าค่ายของเยาวชน การปลูกต้นไม้ การเดินการวิ่งครอสคันทรี่ การขี่จักรยานเสือภูเขา การขับขานวรรณกรรม นิทรรศการและการชมป่าศึกษาธรรมชาติ มีเด็ก เยาวชน ครอบครัว และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมากกว่า 2 พันคน
                หลังการเข้าร่วมกิจกรรมมีโรงเรียนจัดทำโครงการ สวนสร้างสุขเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องขึ้น คือโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสวนประมาณ 5 กิโลเมตร
                คณะครู ผู้บริหาร และคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ร่วมกันจัดให้มีการ บูรณาการ หลักสูตร รายวิชา และกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเด็กทุกคน ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.6 โดยใช้การขี่จักรยาน เดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ในบริเวณสวนที่มีพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ซึ่งรวมเอาสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง สวนรวมพรรณไม้ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิด และถ้ำเขาบิน ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกัน
                เด็ก ๆ อยู่ในโรงเรียนสัปดาห์ละ 4 วัน คือ วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี วันศุกร์ คือวันที่เด็ก ๆ มีความสุขกับการขี่จักรยานทางไกลออกไปจากรั้วโรงเรียน ไปสู่แหล่งเรียนรู้ที่กว้างขวาง และมีครูภูมิปัญญาจำนวนมากมายที่พร้อมจะให้ความรู้สารพัดวิชาอยู่นอกโรงเรียน
                คณะครูวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้สัมพันธ์กับรายวิชาในหลักสูตรอย่างละเอียด ผ่านกิจกรรมทุกขั้นตอน ผ่านวิทยากรในแหล่งเรียนรู้ โดยมีใบงานที่ออกแบบสอดคล้องกับสาระของแต่ละวิชา ทั้งภาษาไทย  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษสังคมศึกษา พลศึกษาและสุขศึกษา การงานและพื้นฐานอาชีพ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ลูกเสือและแนะแนว)
                สวน  จึงเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่มหึมา ที่มีความงดงาม ร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์  มีพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด มีธรรมชาติลึกล้ำ มหัศจรรย์ ที่ท้าทาย ความสงสัยใคร่รู้ของเด็ก ๆ
                กิจกรรม“สวนสร้างสุข เพื่อการเรียนรู้” จึงเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งสำหรับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จะได้ใช้ประโยชน์เพื่อสร้าง “กาย ใจ สังคม และปัญญา” ให้เติบใหญ่ กล้าแกร่ง พร้อมเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกสภาวะ