วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ออกกำลังกายได้อะไรมากกว่าที่คิด






ตอนที่ 1 อะไรทำให้คนออกกำลังกายมากน้อยต่างกัน

ชัยยุทธ กุลตังวัฒนา
หลายคนอาจจะสงสัยว่าคนที่ออกกำลังกายมากกับคนที่ออกกำลังน้อย หรือไม่ค่อยออกกำลังกาย มีสาเหตุอะไรที่ทำให้บุคคลต่างๆ เหล่านี้มีพฤติกรรมการออกกำลังกายมากน้อยต่างกัน คำตอบของคำถามนี้ นักวิจัยของสสส. นำทีมโดย นายชัยยุทธ กุลตังวัฒนา จากโรงพยาบาลราชวิถี และคณะจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรมการพัฒนาชุมชนประกอบด้วย ผศ.ดร.กมลมาลย์ วิรัตน์เศรษฐสิน รศ.ดร.ธาดา วิมลวัตรเวที อ.ธงชาติ ภู่เจริญ และนายศุภชัย สุพรรณทอง ได้เฉลยไว้ในงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยเชิงเหตุและผลของพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนไทย” ไว้ว่า ปัจจัยสำคัญตามลำดับที่ทำให้คนไทยโดยทั่วไป มีการออกกำลังกายมากน้อยต่างกัน คือ
1. มีปัจจัยเอื้อต่อการออกกำลังกาย เช่น การอยู่ใกล้สถานที่ออกกำลังกาย มีอุปกรณ์การออกกำลังกาย อุปกรณ์การออกกำลังกายราคาไม่แพงหาซื้อได้ง่าย เดินทางไปออกกำลังกายได้สะดวก มีประสบการณ์ในการออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็ก มีทักษะในการออกกำลังกาย มีผู้นำในการออกกำลังกาย เห็นโฆษณาการออกกำลังกายของสสส. และบรรยากาศในจังหวัดสนับสนุนการออกกำลังกาย เป็นต้น
2. มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น รู้สึกพอใจที่ได้ออกกำลังกายและรู้สึกไม่สบายใจที่ไม่ได้ออกกำลังกาย พอใจที่ได้ออกกำลังกายกับเพื่อนและจะรู้สึกภูมิใจมากที่สามารถชักชวนให้เพื่อนออกกำลังกายได้ พอใจที่สามารถค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย มีความมุ่งมั่นที่จะออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ตั้งใจว่าจะพยายามออกกำลังกายให้ได้ตามเกณฑ์ของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพคือ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที และออกกำลังกายให้ได้ความแรงระดับปานกลาง คือ ออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อยและสามารถพูดคุยกับคนข้างเคียงได้จบประโยค เป็นต้น
3. มีความเชื่ออำนาจในตนในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น มีความรู้สึกหรือความเชื่อว่าสามารถป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยได้ด้วยการออกกำลังกาย เชื่อว่าสามารถทำให้ตนเองมีสุขภาพดีได้ด้วยการออกกำลังกาย เชื่อว่าจะออกกำลังกายด้วยตนเองไม่ต้องรอคนอื่นมาชักชวน เชื่อว่าจะสามารถออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องได้นาน


ครั้งละประมาณ 30 นาที เชื่อว่าสามารถควบคุมสุขภาพของตนเองได้ด้วยการออกกำลังกาย เชื่อว่าภาวะสุขภาพของตนเองในขณะนี้เป็นผลมาจากการออกกำลังกายของตนเอง เป็นต้น
4. ได้รับการสนับสนุนทางสังคม เช่น ได้รับคำแนะนำที่ดีในการออกกำลังกายจากเพื่อน ได้กำลังใจจากเพื่อนและคนในครอบครัว เพื่อนและคนในครอบครัวแสดงความชื่นชมเมื่อออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อนๆ และคนในครอบครัวชักชวนไปออกกำลังกาย เพื่อนๆ แสดงความมีน้ำใจขณะออกกำลังกาย เช่น ให้น้ำดื่ม ผู้นำชุมชนให้การสนับสนุน หน่วยงานมีกิจกรรมสนับสนุนการออกกำลังกาย เป็นต้น
5. มีแบบอย่างที่ดีในการในการออกกำลังกาย เช่น มีผู้ใกล้ชิดที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เห็นแบบอย่างที่ถูกต้องในการออกกำลังกายจากผู้ใกล้ชิด เห็นผู้ใกล้ชิดชักชวนเพื่อนๆ ไปออกกำลังกาย เห็นผู้ใกล้ชิดอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้เพื่อนๆ ฟัง เห็นผู้ใกล้ชิดแสดงความชื่นชมเมื่อเพื่อนๆ ออกกำลังกาย เป็นต้น
6. มีสุขภาพจิตดี เช่น รู้สึกสบายใจ พึงพอใจในชีวิต ภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าสมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน รู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่อยู่ในครอบครัว ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถทำใจยอมรับกับปัญหาที่ยากจะแก้ไข สามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น มีความมั่นใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต เป็นต้น
7. รู้สึกว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวดี เช่น มีรายได้พอเพียงสำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันในบ้าน มีรายได้เหลือเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น เป็นต้น
โดยสรุปก็คือ ผู้ที่มีปัจจัยเอื้อต่อการออกกำลังกายมาก มีทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายมาก มีความเชื่ออำนาจในตนในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมาก ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมาก มีแบบอย่างที่ดีในการออกกำลังกายมาก มีสุขภาพจิตดี และมีฐานทางเศรษฐกิจของครอบครัวดี จะเป็นสาเหตุให้ออกกำลังกายมากกว่าผู้ที่มีลักษณะต่างๆ เหล่านี้น้อย ยังมีข้อค้นพบดีๆ อีกมากมายจากงานวิจัยเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะทยอยนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน อย่าลืมติดตามคอลัมภ์นี้เป็นประจำ แล้วท่านจะพบว่าท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่มีสุขภาพดีได้ด้วยการออกกำลังกาย

เรียนมวยไทยให้“เป็นมวย”



เรียนมวยไทยให้ “เป็นมวย”
วิชิต ชี้เชิญ*

เมื่อกล่าวถึง“มวยไทย”คงไม่มีคนไทยคนไหนที่บอกว่าไม่รู้จัก มวยไทยเป็นกีฬาที่เป็นเครื่องหมายของประเทศไทย การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยนอกจากการนำ เสนอวัฒนธรรมอื่นๆแล้วจะมีเรื่องของมวยไทยเป็นวัฒนธรรมด้านกีฬาเสมอ โดยเฉพาะในปัจจุบัน มวยไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก และนับวันชาวต่างชาติจะรู้จักและนิยมมวยไทยมากขึ้น หลายประเทศทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลียมีค่ายสอนมวยไทย เมื่อชาวต่างชาติเรียนมวยไทยแล้วก็ต้องการเข้ามาแข่งขันชกมวยไทย ต่างชาติหลายคนคิดว่าเรียนมวยไทยแล้วไม่ได้ขึ้นเวทีชกมวยรู้สึกเหมือนไม่ได้เรียนมวย ดังนั้น เราจึงเห็นการจัดแข่งมวยไทยสมัครเล่นนานาชาติในประเทศไทยทุกปี นอกจากทักษะการชกมวยของชาวต่างชาติที่มีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ แล้วสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการไหว้ครูมวยไทย ชาวต่างชาติที่ประกวดไหว้ครูมวยไทยทุกวันนี้มีทักษะดีมากขึ้นไหว้ครูได้สวยงามและประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศหลายคน เมื่อเราหันกลับมาที่คนไทย อาจต้องตั้งคำถามว่า คนไทยคิดอย่างไรกับมวยไทย มีความเข้าใจเรื่องมวยไทยอย่างไร มีคนไทยกี่คนที่ส่งลูกหลานเรียนมวยไทยหรือมีคนไทยกี่คนที่ต้องการเรียนมวยไทย สถานที่สอนมวยไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร ตอบสนองบุคคลกลุ่มไหน และทิศทางข้างหน้าของมวยไทยจะเป็นอย่างไร การตอบคำถามเหล่านี้คงต้องให้ผู้อ่านเป็นผู้ตอบปัญหาด้วยตนเอง
สำหรับผู้เขียนอาจมองภาพมวยไทยต่างจากมวยไทยเพื่อการแข่งขัน ผู้เขียนคิดว่าบรรพบุรุษของเราได้สร้างวิธีการต่อสู้ป้องกันตัวที่เรียกว่ามวยไทยขึ้นมาด้วยความชาญฉลาด การเรียนมวยไทยของคนไทยโบราณนั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้สอนคนให้เป็นคนดีที่มีความสามารถในการต่อสู้ ป้องกันตัวและป้องกันชาติ การใช้ความรู้การต่อสู้ป้องกันตัวนี้ใช้เมื่อยามจำเป็นและใช้อย่างมีคุณธรรม ที่กล่าวเช่นนี้เพราะครูที่สอนการต่อสู้ป้องกันตัวคือพระซึ่งเป็นที่มั่นใจได้ว่าท่านต้องสอนคนให้เป็นคนดีมีหลักธรรมประจำใจ ดังนั้น ปรัชญาการของการสอนผู้เรียนมวยไทยหรือการต่อสู้ป้องกันตัวคือ “การสอนคนก่อนสอนทักษะการต่อสู้” นอกจากนี้วิธีการการสอนมวยไทยในสมัยก่อนผู้เรียนต้องเริ่มจากเรียนการแก้ปัญหาจนมีความชำนาญและครูมั่นใจว่าสามารถต่อสู้ได้จึงอนุญาตให้ชึ้นชกบนเวทีหรือไปเปรียบมวยกับผู้อื่น นั่นคือ ใช้การสอนมวยไทยหรือการต่อสู้ป้องกันตัวในการฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั่นเอง
ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้สร้างหลักสูตรที่มีชื่อว่า “มวยไทยศึกษา” ขึ้น เป็นหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้ที่สนใจเรียนมวยไทยหรือเรียนการต่อสู้ป้องกันตัว โดยนำองค์ความรู้การต่อสู้ป้องกันตัว
ของไทยทั้งหมดมารวมกันประกอบด้วยการต่อสู้ด้วยมือเปล่า คือ มวยไทย และการต่อสู้โดยใช้อาวุธ คือ กระบี่กระบอง นอกจากนี้มีการนำท่าการเหยียดยืดแบบไทยคือฤาษีดัดตนและการคลายกล้ามเนื้อด้วยการนวดไทยเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีปรัชญา“สอนคนก่อนสอนกีฬา” และมีวิธีการสอนคือ“สอนคนให้เป็นมวย” ไม่ใช่สอนคนเป็นนักมวย อันหมายถึงสอนคนให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้วัฒนธรรมไทยอย่างถ่องแท้ สามารถก้าวสู่สังคมโลกได้อย่างสง่างาม
หลักสูตรนี้ผู้เขียนได้จัดเป็นระดับเพื่อให้มีลักษณะเหมือนหลักสูตรการต่อสู้ป้องกันตัวของต่างประเทศ โดยใช้สีของมงคลเป็นสัญลักษณ์ของระดับต่าง ๆ หลักสูตรแบ่งเป็น 9 ระดับ แต่ละระดับใช้ระยะเวลาศึกษา 30 ชั่วโมง แนวคิดของการใช้มงคลมาเป็นหลักในการจัดระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียนมวยไทยศึกษานี้ผู้เขียนนำมาจากวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ยึดหลักการดำเนินชีวิตตามมงคลธรรมในศาสนาพุทธ คำว่า “มงคล” เป็นคำไทยที่มีความหมายว่า เคราะห์ดี มีความสุข การดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยที่ทำให้เราสามารถอยู่ดีมีความสุขโดยใช้หลักพุทธศาสนาต้องประกอบด้วยมงคล 38 ประการ ดังนั้น การสอนคนให้เป็นคนดีของหลักสูตรมวยไทยศึกษาจึงได้นำมงคล 38 ประการมาเป็นแนวคิดในการจัดระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียน โดยผู้เรียนมวยไทยศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เกิดทั้งความดีและมีความสามารถปฏิบัติทักษะของมวยไทยศึกษาได้ เช่น มีสติ มีสมาธิ สามารถแก้ปัญหาในทันทีด้วยปฏิภาณไหวพริบ หยุดเป็น รับเป็น รอบคอบ แก้ไข ผ่อนหนักเป็นเบา มีการตัดสินใจที่ฉับไว มีความอ่อนน้อมถ่อมตนแต่เข้มแข็ง องอาจ อดทน รู้รักสามัคคี มีความกตัญญู เป็นผู้นำและผู้ตามที่มีคุณธรรม รู้จักการดูแลสุขภาพของตนเอง รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักการสร้างพลังกายและพลังใจตามวิถีไทย มีความเข้าใจภูมิธรรมและภูมิปัญญาไทยในการป้องกันตัวและการดูแลสุขภาพ เพื่อนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข การวัดและประเมินผลหลักสูตรประกอบด้วย การเข้าชั้นเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 การเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ผู้ที่ผ่านเกณฑ์เข้าเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมที่กำหนดจะทำการสอบเพื่อรับมงคลตามระดับและสมุดบันทึกความสามารถ โดยผู้เรียนต้องสอบผ่านทั้งทักษะฤาษีดัดตน มวยไทย กระบี่กระบอง และนวด ทั้งนี้ผู้ที่เข้าเรียน 30 ชั่วโมงหากไม่สามารถสอบผ่านทุกทักษะในครั้งเดียวสามารถสอบเก็บทักษะใดทักษะหนึ่งได้โดยทักษะนั้นเก็บได้ไม่เกิน 3 ปี หากเกินเวลาที่กำหนดและยังไม่สามารถสอบผ่านต้องสอบใหม่ทั้งหมด หลักสูตรมวยไทยศึกษานี้เป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันอาศรมศิลป์ซึ่งพร้อมที่จะให้บริการจัดอบรมแก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
ผู้เขียนมีความหวังว่าหลักสูตรมวยไทยศึกษานี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในสังคมไทยสำหรับผู้ที่สนใจเรียนการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทยเพื่อสอนให้คนไทย “เป็นมวย” คือ กตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ฝึกการแก้ปัญหา ฝึกความอดทน เข้มแข็ง และรู้รักสามัคคี และเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับมวยไทยอาชีพในอนาคตของประเทศไทย
-------------------------
* ครูภูมิปัญญาไทย สภาการศึกษา
* ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันอาศรมศิลป์