วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ออกกำลังกายได้อะไรมากกว่าที่คิด






ตอนที่ 1 อะไรทำให้คนออกกำลังกายมากน้อยต่างกัน

ชัยยุทธ กุลตังวัฒนา
หลายคนอาจจะสงสัยว่าคนที่ออกกำลังกายมากกับคนที่ออกกำลังน้อย หรือไม่ค่อยออกกำลังกาย มีสาเหตุอะไรที่ทำให้บุคคลต่างๆ เหล่านี้มีพฤติกรรมการออกกำลังกายมากน้อยต่างกัน คำตอบของคำถามนี้ นักวิจัยของสสส. นำทีมโดย นายชัยยุทธ กุลตังวัฒนา จากโรงพยาบาลราชวิถี และคณะจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรมการพัฒนาชุมชนประกอบด้วย ผศ.ดร.กมลมาลย์ วิรัตน์เศรษฐสิน รศ.ดร.ธาดา วิมลวัตรเวที อ.ธงชาติ ภู่เจริญ และนายศุภชัย สุพรรณทอง ได้เฉลยไว้ในงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยเชิงเหตุและผลของพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนไทย” ไว้ว่า ปัจจัยสำคัญตามลำดับที่ทำให้คนไทยโดยทั่วไป มีการออกกำลังกายมากน้อยต่างกัน คือ
1. มีปัจจัยเอื้อต่อการออกกำลังกาย เช่น การอยู่ใกล้สถานที่ออกกำลังกาย มีอุปกรณ์การออกกำลังกาย อุปกรณ์การออกกำลังกายราคาไม่แพงหาซื้อได้ง่าย เดินทางไปออกกำลังกายได้สะดวก มีประสบการณ์ในการออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็ก มีทักษะในการออกกำลังกาย มีผู้นำในการออกกำลังกาย เห็นโฆษณาการออกกำลังกายของสสส. และบรรยากาศในจังหวัดสนับสนุนการออกกำลังกาย เป็นต้น
2. มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น รู้สึกพอใจที่ได้ออกกำลังกายและรู้สึกไม่สบายใจที่ไม่ได้ออกกำลังกาย พอใจที่ได้ออกกำลังกายกับเพื่อนและจะรู้สึกภูมิใจมากที่สามารถชักชวนให้เพื่อนออกกำลังกายได้ พอใจที่สามารถค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย มีความมุ่งมั่นที่จะออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ตั้งใจว่าจะพยายามออกกำลังกายให้ได้ตามเกณฑ์ของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพคือ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที และออกกำลังกายให้ได้ความแรงระดับปานกลาง คือ ออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อยและสามารถพูดคุยกับคนข้างเคียงได้จบประโยค เป็นต้น
3. มีความเชื่ออำนาจในตนในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น มีความรู้สึกหรือความเชื่อว่าสามารถป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยได้ด้วยการออกกำลังกาย เชื่อว่าสามารถทำให้ตนเองมีสุขภาพดีได้ด้วยการออกกำลังกาย เชื่อว่าจะออกกำลังกายด้วยตนเองไม่ต้องรอคนอื่นมาชักชวน เชื่อว่าจะสามารถออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องได้นาน


ครั้งละประมาณ 30 นาที เชื่อว่าสามารถควบคุมสุขภาพของตนเองได้ด้วยการออกกำลังกาย เชื่อว่าภาวะสุขภาพของตนเองในขณะนี้เป็นผลมาจากการออกกำลังกายของตนเอง เป็นต้น
4. ได้รับการสนับสนุนทางสังคม เช่น ได้รับคำแนะนำที่ดีในการออกกำลังกายจากเพื่อน ได้กำลังใจจากเพื่อนและคนในครอบครัว เพื่อนและคนในครอบครัวแสดงความชื่นชมเมื่อออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อนๆ และคนในครอบครัวชักชวนไปออกกำลังกาย เพื่อนๆ แสดงความมีน้ำใจขณะออกกำลังกาย เช่น ให้น้ำดื่ม ผู้นำชุมชนให้การสนับสนุน หน่วยงานมีกิจกรรมสนับสนุนการออกกำลังกาย เป็นต้น
5. มีแบบอย่างที่ดีในการในการออกกำลังกาย เช่น มีผู้ใกล้ชิดที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เห็นแบบอย่างที่ถูกต้องในการออกกำลังกายจากผู้ใกล้ชิด เห็นผู้ใกล้ชิดชักชวนเพื่อนๆ ไปออกกำลังกาย เห็นผู้ใกล้ชิดอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้เพื่อนๆ ฟัง เห็นผู้ใกล้ชิดแสดงความชื่นชมเมื่อเพื่อนๆ ออกกำลังกาย เป็นต้น
6. มีสุขภาพจิตดี เช่น รู้สึกสบายใจ พึงพอใจในชีวิต ภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าสมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน รู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่อยู่ในครอบครัว ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถทำใจยอมรับกับปัญหาที่ยากจะแก้ไข สามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น มีความมั่นใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต เป็นต้น
7. รู้สึกว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวดี เช่น มีรายได้พอเพียงสำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันในบ้าน มีรายได้เหลือเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น เป็นต้น
โดยสรุปก็คือ ผู้ที่มีปัจจัยเอื้อต่อการออกกำลังกายมาก มีทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายมาก มีความเชื่ออำนาจในตนในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมาก ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมาก มีแบบอย่างที่ดีในการออกกำลังกายมาก มีสุขภาพจิตดี และมีฐานทางเศรษฐกิจของครอบครัวดี จะเป็นสาเหตุให้ออกกำลังกายมากกว่าผู้ที่มีลักษณะต่างๆ เหล่านี้น้อย ยังมีข้อค้นพบดีๆ อีกมากมายจากงานวิจัยเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะทยอยนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน อย่าลืมติดตามคอลัมภ์นี้เป็นประจำ แล้วท่านจะพบว่าท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่มีสุขภาพดีได้ด้วยการออกกำลังกาย

ไม่มีความคิดเห็น: