วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สวนสร้างสุข:Healthy Park

ประเทศไทย  มีสวนสาธารณะกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในเมืองและในชนบท อยู่ในสังกัดของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรมทางหลวง  รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน
                สวนสาธารณะในเมือง  จะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ออกกำลังกาย และเป็นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนในชุมชน สวนเหล่านี้กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในเขตเทศบาลของจังหวัดต่าง ๆ
                สวนในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ มีทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ ซึ่งทั้งหมดสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แหล่งธรรมชาติเหล่านี้ มักจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ประชาชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ต้องเป็นผู้ที่มีใจรักและชื่นชมธรรมชาติอย่างแท้จริง การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพโดยตรง ยังไม่ปรากฏกิจกรรมที่เด่นชัดมากนัก
                ในกรุงเทพมหานคร มีสวนสาธารณะสังกัดสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ที่เปิดบริการโดยสมบูรณ์แล้ว 20 สวน คือ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนสราญรมย์  สวนเสรีไทย  สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ) สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนสันติภาพ สวนรมณีนาถ  สวนกีฬารามอินทรา  สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน สวนหลวง ร.9  อุทยานเบญจสิริ  สวนพระนคร  สวนหนองจอก  สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา(เกียกกาย) สวนธนบุรีรมย์ สวนธรรม 70 พรรษามหาราชินี  สวนมหาดไทย  สวนทวีวนารมย์ และสวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร  พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ปีละ 750 ไร่ (ระยะปี พ.ศ.2548-2551) โดยมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 3 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
                สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เล็งเห็นในคุณค่าของสวนสาธารณะ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งด้านกาย ใจสังคม และปัญญา เป็นการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็ก เยาวชน ครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในปี พ.ศ.2551-2552  สสส. จึงร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีออกกำลังกายในสวนสาธารณะ รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายในสวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้แก่ธรรมะ ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ
                สวนที่มีกิจกรรมตามโครงการออกกำลังกายในสวน : สวนสาธารณะมีชีวิตไปแล้ว ได้แก่ สวนลุมพินี สวนสราญรมย์ สวนรถไฟ สวนธนบุรีรมย์ สวนกัลปพฤกษ์ สวนสะพานพระราม 8 สวนพฤกษฯ คลองจั่น  สวนวังนันทอุทยาน  สวนป้อมพระจุลจอมเกล้า และสวนสมเด็จย่านนทบุรี  เป็นต้น
                โครงการออกกำลังกายในสวน  เป็นโครงการที่ประสานงานโดย สมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย โดยมีชมรมออกกำลังกายในสวนแต่ละสวนเป็นผู้รับผิดชอบ  วัตถุประสงค์สำคัญต้องการให้ ชมรมออกกำลังกายทุกชมรมในสวน ได้มีโอกาสพบปะกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณประโยชน์ ของกิจกรรมออกกำลังกาย ที่แต่ละชมรมมีความสนใจ ถนัด  และเชี่ยวชาญ การรวมกลุ่มทำให้เกิดพลังทางสังคม ที่ก่อให้เกิดกระแสในการขับเคลื่อนให้ประชาชนที่อาศัยในย่านที่เป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น
                กิจกรรมที่มวลชนในสวนสาธารณะใช้ออกกำลังกายกันเป็นประจำ ได้แก่  เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิค ขี่จักรยาน ไท้เก๊ก  ไม้พลอง  โยคะ ลีลาศ เพาะกาย และการเล่นกีฬา ได้แก่ ตะกร้อ ฟุทซอล บาสเกตบอล แบดมินตัน เปตอง เตะลูกขนไก่ และกีฬาภูมิปัญญาไทย เป็นต้น
                กิจกรรมแต่ละชนิด มีการบริหารจัดการเป็นชมรมที่มีสมาชิก มีคณะกรรมการบริหาร มีระบบจัดการ บางชมรมก่อตั้งมานับสิบปี มีทีมงานและระบบที่เข้มแข็ง บางชมรมมีจำนวนสมาชิกหลายร้อยคน มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะเพื่อสังคมได้อย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ
                ในปี 2553 สสส.และสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย มีเป้าหมายที่จะขยายกิจกรรมออกกำลังกายในสวน ให้ขยายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศให้กว้างขวาง มากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด “สวนสร้างสุข : Healthy Park เพื่อชวนคนไทยออกกำลังกายโดยใช้คำขวัญการรณรงค์ว่า “ชวนขยับทั้งประเทศ” จึงส่งเสริมให้เครือข่ายภูมิภาคของสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ทดลองชักชวนชมรมออกกำลังกายในจังหวัดต่าง ๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ชวนประชาชนมาออกกำลังกายในสวนสาธารณะ และสถานออกกำลังกายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
                ขณะเดียวกันก็มีการทดลอง จัดกิจกรรมออกกำลังกายในสวนของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โดยเริ่มที่สวนพฤกศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 26-27 มิถุนายน 2553 กิจกรรมประกอบด้วย การเข้าค่ายของเยาวชน การปลูกต้นไม้ การเดินการวิ่งครอสคันทรี่ การขี่จักรยานเสือภูเขา การขับขานวรรณกรรม นิทรรศการและการชมป่าศึกษาธรรมชาติ มีเด็ก เยาวชน ครอบครัว และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมากกว่า 2 พันคน
                หลังการเข้าร่วมกิจกรรมมีโรงเรียนจัดทำโครงการ สวนสร้างสุขเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องขึ้น คือโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสวนประมาณ 5 กิโลเมตร
                คณะครู ผู้บริหาร และคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ร่วมกันจัดให้มีการ บูรณาการ หลักสูตร รายวิชา และกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเด็กทุกคน ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.6 โดยใช้การขี่จักรยาน เดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ในบริเวณสวนที่มีพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ซึ่งรวมเอาสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง สวนรวมพรรณไม้ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สวนสัตว์เปิด และถ้ำเขาบิน ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกัน
                เด็ก ๆ อยู่ในโรงเรียนสัปดาห์ละ 4 วัน คือ วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี วันศุกร์ คือวันที่เด็ก ๆ มีความสุขกับการขี่จักรยานทางไกลออกไปจากรั้วโรงเรียน ไปสู่แหล่งเรียนรู้ที่กว้างขวาง และมีครูภูมิปัญญาจำนวนมากมายที่พร้อมจะให้ความรู้สารพัดวิชาอยู่นอกโรงเรียน
                คณะครูวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้สัมพันธ์กับรายวิชาในหลักสูตรอย่างละเอียด ผ่านกิจกรรมทุกขั้นตอน ผ่านวิทยากรในแหล่งเรียนรู้ โดยมีใบงานที่ออกแบบสอดคล้องกับสาระของแต่ละวิชา ทั้งภาษาไทย  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษสังคมศึกษา พลศึกษาและสุขศึกษา การงานและพื้นฐานอาชีพ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ลูกเสือและแนะแนว)
                สวน  จึงเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่มหึมา ที่มีความงดงาม ร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์  มีพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด มีธรรมชาติลึกล้ำ มหัศจรรย์ ที่ท้าทาย ความสงสัยใคร่รู้ของเด็ก ๆ
                กิจกรรม“สวนสร้างสุข เพื่อการเรียนรู้” จึงเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งสำหรับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จะได้ใช้ประโยชน์เพื่อสร้าง “กาย ใจ สังคม และปัญญา” ให้เติบใหญ่ กล้าแกร่ง พร้อมเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกสภาวะ

ไม่มีความคิดเห็น: